สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ()
เมือง 518 Like   1 รีวิว  0 รูป
รายละเอียด
ลักษณะเด่นของผ้ายกดอก คือในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัสมีความนูนที่แตกต่างกันไปตามลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเด่นของลวดลาย
ไป “ลำพูน” หรือแต่เดิมมีชื่อว่า “นครหริภุญชัย” เห็นทีจะพลาด หากไม่ได้เข้าไปสัมผัสวิถีการทอผ้าที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีตกาล

การเดินทางไปครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า คนรักผ้าทอ และพร้อมดำเนินการต่อ รวมไปถึงผู้ที่รู้รักษ์ (ษา) ยังมีอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงผู้สนับสนุนที่พร้อมส่งเสริมให้ผ้าทอจากภูมิปัญญาได้ขึ้นแท่นสู่ระดับสากล อย่าง กรมหม่อนไหม (ผู้นำพาคณะผู้สื่อข่าวไปสัมผัสผ้าทอยกดอก ลำพูน) ซึ่งถือเป็นหนึ่งหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนส่งเสริม จนเห็นภาพเด่นชัด กับการยกระดับ “ผ้าทอยกดอก ลำพูน” สู่การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI)

จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องราวของผ้าทอในครั้งนี้ เริ่มต้นที่ “สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สถาบันที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ผู้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาการทอผ้าของคนลำพูน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และด้วยเกรงว่าจะสูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้จัดตั้งสถาบันนี้ขึ้น
จากได้ฟังเรื่องเล่า ทำให้ทราบว่า แต่เดิมนั้นหญิงชาวลำพูน จะมีทักษะการทอผ้า และด้วยเพราะลำพูน ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ มีกลุ่มคนอาศัยอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ยวน โยนก ไทใหญ่ ยางแดง เขิน ลื้อ ลั้วะ และมอญ ซึ่งกับการทอผ้าของชนชาวยอง (ไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า) ถือว่ามีเอกลักษณ์

สำหรับในกลุ่มชนชั้นสูง วัตถุดิบที่ใช้นำมาทอผ้าจะเน้นเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้นฝ้ายซึ่งจะใช้ในชนชั้นล่าง ต่อเมื่อกาลเวลาล่วงผ่านนับร้อยปี การทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายยังประยุกต์ใช้กันอยู่ แต่ลวดลายนั้นไม่วิจิตรนัก

จวบจนกระทั่ง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี (พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7) พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ซึ่งหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่ ทรงนำความรู้ที่เรียนมาจากราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณ วังหลวงในกรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลาย และได้ฝึกหัดให้คนในคุ้มเชียงใหม่ทอผ้ายก โดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมเพื่อความโดดเด่นพิเศษขึ้น ด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอ เพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อน ประณีต งดงามได้
เทคนิคการทอลักษณะนี้เรียกว่า “ยกดอก”

ด้วยเพราะพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงทรงถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้ายก ให้แก่เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย) และ เจ้าหญิงลำเจียก (พระธิดา เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) ทั้ง 2 พระองค์จึงได้นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึกแก่คนในคุ้มหลวงลำพูน และชาวบ้านก็ได้เรียนรู้การทอผ้ายกจากคนในคุ้มจนเกิดความชำนาญ และได้มีการเผยแพร่วิธีการทอไปทั่วชุมชนต่างๆ

พระองค์ทรงฟื้นฟูผ้าไหมยกดอกลำพูน เพื่อให้เกิดความวิจิตรสวยงามยิ่งขึ้น โดยทรงใช้เทคนิคภาคกลางมาประยุกต์ โดยการทอผ้านี้จะได้รับความสนใจมากในตำบลเวียงยอง และบริเวณใกล้เคียงที่เป็นชุมชนของเจ้านายยองในอดีตในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผ้ายกที่ทอด้วยฝีมือประณีตของคนลำพูนนั้นเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก ซึ่งปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ถือเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และได้มีการขยายแหล่งทอผ้าไปในอำเภอลี้ และ อำเภอทุ่งหัวช้าง

ฉะนั้น จังหวัดลำพูน จึงถือเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น สำหรับลวดลายโบราณดั้งเดิมและถือว่ายังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุล ซึ่งปัจจุบันได้มีการคิดลวดลายให้หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ พิกุลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
ลักษณะเด่นของผ้ายกดอก คือในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัสมีความนูนที่แตกต่างกันไปตามลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเด่นของลวดลาย

ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ถือเป็นสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทอผ้าด้วยมือและสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของจังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาตลาดผ้าทอ สร้างอาชีพที่มั่นคง และมีคุณค่าของจังหวัดลำพูน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมการทอผ้าของคนลำพูน เป็นสถานที่จัดแสดงความเป็นมาของผ้าทอที่เชื่อว่าผู้เข้าไปสัมผัส จะเข้าใจลึกซึ้งถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง

สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอผืนสวยและผลงานสร้างสรรค์ของคนลำพูน สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ได้จัดโซนร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากฝีมือคนลำพูนไว้ให้เลือกชม เลือกซื้อ

ฉะนั้น เมื่อใดไปเยือนจังหวัดลำพูน อย่าพลาดกับการแวะไปเยี่ยมเยือน สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย



กิจกกรมที่ต้องทำที่นี่

เส้นทาง
Reviews (1)
เขียนรีวิวสถานที่
ข้อความ
รูปภาพ
เขียนโดย

- 7/20/2024